20101124

Songkran History In Thailand. สงกรานต์ ตำนานนางสงกรานต์

Songkran History



นางสงกรานต์ คำพยากรณ์...คติในตำนาน

ใกล้ เข้ามาแล้วสำหรับสงกรานต์ เทศกาลที่มีสีสันความหมายลึกซึ้งซึ่งไม่เพียงแค่ความสนุกสนานเล่นสาดน้ำ เปียกปอน ประเพณีสงกรานต์วันขึ้นปีใหม่ของไทยยังเป็นช่วงเวลาสำคัญของการกลับมาอยู่ ร่วมกันของครอบครัว การทำบุญสร้างกุศล เยี่ยมเยือนญาติผู้ใหญ่ ฯลฯ

จาก ประเพณีสงกรานต์ที่มีความหมาย ตลอดสัปดาห์วาไรตี้ตามติดนำสาระสำคัญของประเพณี สีสันบรรยากาศเทศกาลสงกรานต์ วันผู้สูงอายุ วันครอบครัว ตลอดจนสถานที่พักผ่อนท่องเที่ยวรวมทั้งการกล่าวขานถึงนางสงกรานต์ คำพยากรณ์ มาบอกเล่า

สมัยก่อนที่ยังไม่มีปฏิทิน การจะรู้ว่าวันสงกรานต์ซึ่งถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่หรือวันเปลี่ยนปีนักษัตร ใหม่ตรงกับวันใดกล่าวกันว่าต้องรอโหรคำนวณ จากนั้นราชการจะออกประกาศ สงกรานต์แจ้งให้ทราบกันซึ่งในประกาศสงกรานต์นอกจากจะทราบถึงวันเวลาเปลี่ยน ศักราชใหม่ วันมงคล อวมงคล ยังมีเกณฑ์น้ำฝนของแต่ละปีแจ้งไว้ ฯลฯ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนที่ประกอบอาชีพกสิกรรมส่วนใหญ่

นอก จากนี้อีกสิ่งที่เป็นที่สนใจคือ นางสงกรานต์ คำพยากรณ์ อย่างถ้านางสงกรานต์นั่งนกยูงจะทราบได้ว่า วันมหาสงกรานต์ปีนั้นตรงกับวันเสาร์และเวลาเปลี่ยนศักราชใหม่ จะอยู่ในช่วงเที่ยงถึงค่ำ เป็นต้นและเพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจ จากส่วนหนึ่งในหนังสือนางสงกรานต์คือใคร เรื่องราวมโหธรเทวี นางสงกรานต์ปีกุน ฯลฯ ที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒน ธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม เผยแพร่ไว้ กล่าวว่า นางสงกรานต์ เป็นคติความเชื่ออยู่ในตำนานสงกรานต์ เล่าถึงความเป็นมาของประเพณีดังกล่าว โดยสมมุติผ่านนางสงกรานต์ทั้งเจ็ดเทียบกับแต่ละวันในสัปดาห์

ตาม ตำนานเล่าว่า "ท้าวกบิลพรหมแพ้ตอบปริศนาแก่ธรรมบาลกุมาร จึงต้องตัดเศียรออกบูชาธรรมบาลกุมารตามสัญญา แต่เนื่องจากพระเศียรของพระองค์ตกไปอยู่ที่ใดก็จะ เป็นอันตรายไม่ว่าจะเป็นบนอากาศ บนดินหรือในน้ำ ธิดาทั้งเจ็ดจึงต้องนำพานมารองรับและนำไปประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธชุลี เขาไกรลาส ครั้นถึงกำหนด 365 วัน ซึ่งโลกสมมุติว่าเป็นปีหนึ่งเวียนมาถึงวันมหาสงกรานต์ เทพธิดาทั้งเจ็ดจะทรงพาหนะของตน ผลัดกันมาเชิญพระเศียรของบิดาออกแห่ โดยที่เทพธิดาทั้งเจ็ดปรากฏในวันมหาสงกรานต์เป็นประจำ จึงได้ชื่อว่า นางสงกรานต์ ส่วนท้าวกบิลพรหม โดยนัยคือ พระอาทิตย์ เพราะกบิล หมายถึง สีแดง"

นางสงกรานต์จะมีนาม อาหาร อาวุธ และสัตว์ที่เป็นพาหนะต่างกัน

วัน อาทิตย์ นาม นางทุงษะ ทัดดอกทับทิม เครื่อง ประดับปัทมราค หรือปัทมราช (พลอยสีแดง) ภักษาหารมะเดื่อ หัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือสังข์ มีครุฑเป็นพาหนะ

วันจันทร์ นาม นางโคราคะ ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา (ไข่มุก) ภักษาหารน้ำมัน หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือ ไม้เท้า มีเสือเป็นพาหนะ

วันอังคาร นาม นางรากษส ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับโมรา ภักษาหารโลหิต หัตถ์ขวาถือตรีศูล หัตถ์ซ้ายถือธนู มีสุกรเป็นพาหนะ

วัน พุธ นาม นางมณฑา ทัดดอกจำปา เครื่องประดับไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย หัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีคัสพะ (ลา) เป็นพาหนะ

วันพฤหัสบดี นาม นางกิริณี ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา หัตถ์ขวาถือขอช้าง หัตถ์ซ้ายถือปืน มีช้างเป็นพาหนะ

วัน ศุกร์ นาม นางกิมิทา ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำว้า หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือพิณ มีกระบือเป็นพาหนะ

วันเสาร์ นาม นางมโหธร ทัดดอกสามหาว (ผักตบ) เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย หัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือตรีศูล มีนกยูงเป็นพาหนะ


อิริยาบถที่นางสงกรานต์ขี่ พาหนะมาจะเป็นการบอกถึงช่วงเวลาพระอาทิตย์เคลื่อนสู่ราศีเมษเวลาใดของวันมหา สงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ซึ่งมีด้วยกัน 4 ท่า

ยืนบนพาหนะ หมายถึง พระอาทิตย์ยกสู่ราศีเมษในระหว่างเวลารุ่งเช้าจนถึงเที่ยง

นั่งบนพาหนะ หมายถึงช่วงเที่ยงจนถึงค่ำ

นอนลืมตาบนพาหนะ หมายถึงช่วงค่ำไปจนถึงเที่ยงคืน

นอนหลับตาบนพาหนะ หมายถึงเที่ยงคืนไปจนถึงรุ่งเช้า

ซึ่ง ความเชื่อเกี่ยวกับอิริยาบถของนางสงกรานต์นั้น กล่าวกันว่า ถ้ายืนมาจะเกิดความเดือดร้อน เจ็บไข้ ถ้านั่งมา จะเกิดความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตายและเกิดเหตุเภทภัยต่าง ๆ นอนลืมตา ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข และถ้านอนหลับตา พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรือง เป็นต้น


ส่วนคำ ว่า สงกรานต์ มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า ก้าวขึ้นหรือเคลื่อนย้าย หมายถึง การเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งสู่อีกราศีหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน แต่เมื่อใดก็ตามที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนสู่ราศีเมษ โบราณถือว่าเป็นการเคลื่อนย้ายครั้งสำคัญ เรียกว่า มหาสงกรานต์ เพราะถือว่าเป็นการเคลื่อนเข้าสู่วันปีใหม่อันเป็นการนับตามคติเดิม ซึ่งมักจะตกอยู่ในราววันที่ 13 14 15 เมษายน ซึ่งแต่ละวันจะมีชื่อเรียกต่างกัน

อย่าง วันที่ 13 เมษายน จะเรียกว่า วันมหาสงกรานต์

วันที่ 14 เรียกว่า วันเนา วันที่พระอาทิตย์เริ่มอยู่เข้าที่เข้าทางในราศีเมษ

ส่วนใน วันที่ 15 เรียกว่า วันเถลิงศก เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ซึ่งทั้งสามวันนี้ กำหนดเรียกแบบตายตัวเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ
จากคำพยากรณ์ ตำนานนางสงกรานต์ คติความเชื่อที่กล่าวขานกันมานั้นมีคุณค่าเสมือนเป็นการเตือนสติ ให้ดำรงตนด้วยความไม่ประมาท ได้รู้ระวังป้องกันแก้ไข